วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เวลากำหนดของพระเจ้า ไม่ใช่ประเพณีของมนุษย์

 เวลากำหนดของพระเจ้า
ไม่ใช่ประเพณีของมนุษย์ 


ประเพณี คำนี้ติดหูเรามาตั้งแต่เด็ก เด็กๆเรามักถูกสอนว่า ต้องรักษาประเพณีที่ดีงามของคนไทยน่ะ เด็กๆ และคำว่าประเพณี มีความหมายว่าอย่างไร ?
ประเพณี หมายถึง สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี

จารีตประเพณี หมายถึง ประเพณีที่นิยมและประพฤติกันสืบมา ถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว
ขนบประเพณี หมายถึง จารีตประเพณีที่วางเป็นระเบียบแบบแผนไว้แล้ว
ข้อมูล จาก http://th.w3dictionary.org

แต่ประเพณีก็มักมีจุดเริ่มต้นที่ดี การเล่นเกมส์กระซิบต่อแถวกัน ข้อมูลจากหัวแถวคือข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เพราะรับมาจากต้นฉบับโดยตรงมีลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อกระซิบต่อๆกันไปแล้ว มาถึงท้ายที่สุดก็เพี๊ยนไม่เป็นท่า
ประเพณีก็เช่นเดียวกัน ต้นกำเนิดอีกแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันเช่นสงกรานต์ ก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าคนในสมัยโบราณ สมัยที่ยังถือดาบไล่ฟันกัน นั่งข้ามเวลามาได้ คงจะงง และสงสัยเป็นแน่แท้ว่า นี่มันประเพณีอะไรหนอ มีคนมาเต้นเด้งหน้าเด้งหลัง เสื้อผ้าแทบจะไม่ต้องใส่กันเลยเชียว

แท้จริงคำว่าประเพณีก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิด หรือน่ากลัวอะไรนัก แต่ผู้เชื่อหลายคน มองพันธสัญญาเดิมในมุมของ คำสอนหรือเทศกาล หรือธรรมบัญญัติเป็นภาระ แต่ไม่ได้มองที่แก่นแท้ของสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสไว้เพื่อเราด้วยเป้าประสงค์ สิ่งเหล่านี้ได้ถุกบิดเบือนออกไปตามเส้นทาวกาลเวลา ถูกบิดเบือนไปตามสภาพการผสมผสานวัฒนธรรมของมนุษย์ การสอดแทรกเพิ่มเติม เสริมแต่ง หรือทำให้ดูน่าเคร่งศาสนาเข้าไปอีก ยิ่งทำให้มันเป็นภาระ และถูกละทิ้งไปทั้งแก่นสารความจริง (โดนเหมา)

เราจึงจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่แท้จริง กลับไปสู่ความจริงตามพระประสงค์ของพระเจ้า โดยมองข้ามกฎหยุมหยิม การเพิ่มเติม สอดแทรก หรือวัฒนธรรมที่เข้ามาผสมผสาน และไม่สร้างการเจือปนใหม่ในแบบของเราด้วย

อะไรที่ทำซ้ำๆ มันเป็นประเพณี ซึ่งมันก็อาจจะคาบเกี่ยวกับวิญญาณศาสนาการเคร่งครัด จนเลยเถิด บางคริสตจักร ถ้ามีขั้นตอนใด ผิดเพี๊ยนไปจากระบบ จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที

บางคนก็บอกว่าทำไมต้องกลับไปเอายิว ? แท้จริงการเอายิวคือเอาทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียม แต่ถ้าเรากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของพระประสงค์พระบิดาแล้ว เราไม่ได้เอายิวที่เสริมนั่นเสริมนี่เข้ามา เพื่อความเหมาะสมในความเป็นเขาเลย แต่เราเอาแก่นสารสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้เราเดินตามวาระและเวลาต่างหาก

หลายคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าการนมัสการมีการให้โห่ร้องนมัสการ หลายคนได้รับการสัมผัส กระโดดโลดเต้น ทีมนมัสการเลิกใส่สูท (แต่ก็ไม่ถึงกับใส่ขาสั้นชุดนอน) ลำดับรายการเปลี่ยนไป หลายคนอยากจะย้ายคริสตจักร โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าได้ยึดติดกับประเพณีเข้าให้แล้ว

เมื่อผมอ่านหนังสือ “คริสตจักรที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์” โดย ซิด รอธ มีมุมหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนได้โดนใจผมมากว่า “อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่างการมีพระเจ้าเคลื่อนไหวในที่ประชุมของเรา กับ หรือระเบียบพิธีการนมัสการ”

ในชุมชนหรือคริสตจักรที่ผมได้เข้าร่วม ครั้งหนึ่งทีมนมัสการถูกเชิญไปนำนมัสการ ที่สัมนาการฟื้นฟูแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหลายทีมนมัสการ มีผู้รับผิดชอบการฉายเนื้อเพลงผ่านโปรเจคเตอร์ มาสอบถามเราว่า จะนำกี่เพลงครับ , มีเพลงอะไรบ้างครับ , บอกชื่อเพลงมาครับ , เรียงลำดับเพลงมาให้ด้วยครับ , เนื้อเพลงก็ต้องตรงกันด้วย กับเพลงที่จะฉาย ..

เรานิ่งอึ้งไปครู่หนึ่งพร้อมบอกอย่างพร้อมเพรียงว่า เราไม่รู้อะไรเลยครับ .. ??
แน่นอนมันไม่ใช่ว่าเราไม่เตรียมเพลงมา และเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำตัว โฮลี่วิเศษกว่าทีมอื่นๆว่าเรา ฟังเสียงของพระเจ้า และกล่าวว่า ทีมอื่นไม่ฟังเสียง

แม้จะมีสคริปให้เขาไป แต่บ่อยครั้งในคริสตจักร เรามักไม่นำตามสคริป ที่เตรียมมาเป็น วันๆ บางที่อาจจะเตรียมเป็นอาทิตย์ ผมเชื่อในความสดใหม่ เมื่อเราเตรียมเพลงอย่างคร่าวๆ และพร้อมแม้เสียงหนึ่งของพระวิญญาณจะนำเราข้ามเพลงที่เราอยากจะร้อง อยากจะนำ และซ้อมมาเนี๊ยบมาก เมื่อพระเจ้าเคลื่อนไหว บรรยากาศอาจจะเปลี่ยน และเพลงก็อาจจะเปลี่ยน ซึ่งผมไม่ได้หมายถึง การเตรียมเพลง เป็นประเพณีนะครับ

หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในประเพณีที่ผิดเพี๊ยน แต่ต่อต้านความจริงของพระยาห์เวห์
หลายคน ต่อต้านเทศกาลของพระยาห์เวห์ โดยมีเหตุผลมากมาย แต่กลับส่งเสริมเทศกาลของโลกและการนมัสการพระของเทศกาลนั้นโดยการเข้าร่วมแบบสนุกสุดเหวี่ยง

เทศกาลในภาษาฮีบรูคือ โมเอ็ด mo’ed (Moedim) หมายถึงวาระที่กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ของชาวยิว แต่เป็นเทศกาลที่พระยาห์เวห์กำหนด การไม่เข้าเทศกาล อาจะไม่เกี่ยวกับความรอด ไม่เกี่ยวกับความตาย แต่เราก็แค่!! พลาดโอกาสอันใหญ่หลวงมากมายที่จะพบกับพระเจ้า (เป็นพิเศษ) เทศการคือการประชุม บางครั้งมีคำที่ซ่อนอยู่คือ การซักซ้อม นั่นหมายถึงมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเทศกาลในพันธสัญญาเดิมคือสิ่งที่เล็งไปยังพระเยซูที่จะมาในครั้งแรก การซักซ้อมก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองด้วย

ประเด็นคือ เราจะเข้าร่วมการซักซ้อมในการเสด็จกลับมาของพระเยซู เราอยากรับเอาพระพรพิเศษ และพบกับพระบิดาในเวลาพิเศษๆ หรือ ….??
เราจะบอกว่า ฉันได้รับเสรีภาพ โดยการไถ่ของพระเยซู บนไม้กางเขนโดยไม่ต้องไปดำเนินหรือเข้าเทศกาลที่มีกฎหยุมหยิมมากมาย อีกต่อไปแล้ว

เราเลยไปเข้าสู่ประเพณีที่ผิดเพี๊ยนมาอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะรูปแบบตายตัวในคริสตจักร หรือประเพณีและเทศกาลทางโลก
 (อ่านตอนต้นจะรู้ว่า ไอ้ที่เราคิดว่าคือภาระ ความจริงมันคือการเสริมเติมแต่งเจือปนวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นและไม่จำเป็น)

ความจริงสิ่งที่น่ากลัวคือประเพณีของพระเจ้าที่ถูกบิดเบือน ไม่ใช่เทศกาลและวาระเวลากำหนดของพระเจ้าที่เป็นความจริง
กจ. 15:10 เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้าโดยวางแอกบนคอของพวกสาวก ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษหรือเราเองแบกไม่ไหว
แอก=คำสอนของฟาริสี
เช่น ถ้าไม่เข้าสุหนัต ไม่ใช่ยิวแท้ หรือต้องมาเดินตามขนบธรรมเนียมของยิวเท่านั้น

หลายครั้งเราอาจจะมักมองเทศกาล เป็นประเพณีที่สืบทอด และต้องไปเลียนแบบยิว ในแง่มุมบริบทของ กายภาพ โดยไม่เน้นที่แก่นของเทศกาล เมื่อมองเป็นประเพณีสืบทอด มันก็ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่จำเป็นต้องรักษาสืบทอด เพราะมองเป็นเพียงประเพณี วัฒนธรรม เพราะเราไม่ต้องรอดโดยเทศกาล แต่รอดโดยพระเยซู เทศกาลที่เล็งถึงพระเยซูก็จบไปเพราะพระเยซูตัวจริงเสียงจริงมาแล้ว แต่แก่นของเทศกาลเป็นสิ่งซึ่งพระยาห์เวห์กำหนดไว้ว่า เป็นนิตย์ คือตลอดไป ไม่ได้ยกเลิก การเข้าสู่เทศกาลไม่ได้ทำให้เราดูเป็นคนชอบธรรม กว่าคนอื่น แต่นำมาซึ่งพระพร และนำเราไปสู่ความสนิทสนมกับพระบิดามากยิ่งขึ้น

มธ. 15:1 เวลานั้นพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ออกจากกรุงเยรูซาเล็ม มาทูลถามพระเยซูว่า
มธ. 15:2 “ทำไมสาวกของท่านจึงละเมิดคำสอนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ? เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ล้างมือเมื่อรับประทานอาหาร”
มธ. 15:3 พระองค์จึงตรัสตอบเขาทั้งหลายว่า “เพราะเหตุใดท่านทั้งหลายจึงละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า เพราะคำสอนสืบทอดของท่าน?
มธ. 15:4 เพราะว่าพระเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ‘จงให้เกียรติบิดามารดาของตน’  และ ‘ใครประณามบิดามารดาจะต้องมีโทษถึงตาย’
มธ. 15:5 แต่พวกท่านกลับสอนว่า ‘ใครกล่าวกับบิดามารดาว่า “สิ่งใดของข้าพเจ้าซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อท่าน สิ่งนั้นเป็นของที่ถวายแด่พระเจ้าแล้ว”
มธ. 15:6 คนนั้นก็ไม่ต้องให้เกียรติบิดาของตน’อย่างนั้นแหละ พวกท่านทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นโมฆะไป เพราะคำสอนสืบทอดของท่าน


เราจะเห็นจากพระธรรมตอนนี้ได้ เพราะในฉบับ RSTNE ที่แปลมาจากรากศัพท์จริงๆ ใช้คำว่า"tradition" ทราแปลว่า "ประเพณี"

เวลานั้นฟาริสีถามว่า ทำไมละเมิดคำสอนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ วึ่งก็คือประเพณี ขนบธรรมเนียม จารีต ในเรื่องการล้างมือ สิ่งที่พระเยซูตอบเขา คือทำไมจึงละเมิดและบิดเบือนคำสอนของพระเจ้าหรือธรรมบัญญัติ เพราะประเพณีที่สืบทอดกันมา

มก. 7:6 พระองค์ตรัสตอบพวกเขาว่า “อิสยาห์พยากรณ์ถึงพวกท่านคนหน้าซื่อใจคด ก็ถูกต้องแล้วตามที่เขียนไว้ว่า ‘ชนชาตินี้ให้เกียรติเราแต่ปาก ใจของพวกเขาห่างไกลจากเรา
มก. 7:7 พวกเขานมัสการเราโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเอากฎเกณฑ์ของมนุษย์มาสอนว่าเป็นพระดำรัสสอน’
มก. 7:8 พวกท่านละทิ้งพระบัญญัติของพระเจ้า และกลับไปยึดถือถ้อยคำของมนุษย์ที่สอนต่อๆ กันมา”

มก. 7:13 พวกท่านจึงทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นโมฆะด้วยคำสอนจากบรรพบุรุษที่พวกท่านรับและสอนต่อๆ กันมา และพวกท่านก็ทำสิ่งคล้ายๆ กันนี้อีกหลายสิ่ง”

คส. 2:8 จงระวังให้ดี อย่าให้ใครทำให้พวกท่านตกเป็นทาสด้วยหลักปรัชญา และคำหลอกลวงที่เหลวไหลตามตำนานของมนุษย์ ตามพวกภูตผีที่ครอบงำของจักรวาล ไม่ใช่ตามพระคริสต์

พระคัมภีร์ตอนนี้ ใช้คำว่า อย่าให้ใครทำให้พวกท่านตกเป็นทาสด้วยหลักปรัชญา และตามประเพณี

แม้พระวจนะดังกล่าวจะไม่ได้พูดถึงเทศกาลกำหนด โดยตรงแต่ก็สอนเราเรื่องประเพณีที่สืบทอดมานั้น ว่าเราต้องแยกและระวังให้ดี

สิ่งที่แฝงในเทศกาลของพระยาห์เวห์ ไม่มช่การอนุรักษณ์ธรรมเนียมของยิว แต่คือแก่นความหมายที่เล็งเป้าประสงค์ไปที่พระเมสสิยาห์ คือพระเยซู เราจึงต้องตัดมุมของการเข้าสู่เทศกาล วาระกำหนดนี้ ในมุมของประเพณีของรับบาย ต่างๆ และรูปแบบที่ตายตัว ทั้งของยิว และในหลายคริสตจักรทุกวันนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะเดินเข้าสู่ประเพณี หรือวิญญาณการเคร่งศาสนา 

ประเพณีอาจจะไม่ผิดนัก แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างประเพณีมนุษย์ กับสิ่งที่เราดำเนินตามสิ่งที่พระเจ้าตรัส นัดหมาย และดำรงไว้สืบมา

อาจจะมีเส้นที่จบไม่ลงสำหรับคำว่าประเพณี แต่เราไม่ได้เข้าสู่เทศกาลแบบยิวโดยรักษาประเพณีแบบยิวทำตามแบบยิวเป๊ะๆ แต่เราเข้าสู่เทศกาลเพราะพระยาห์เวห์ ผู้ที่เราพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ไม่ไหว และไม่มีภาษาใดจะกล่าวยกย่องพระองค์ได้ถึงขีดสุดนั้น พระเจ้าองค์นี้แหละที่ได้ทรงกำหนดเวลานัดหมายเราไว้ นี่ต่างหากที่น่าตื่นเต้น

พระพรอันเต็มเปี่ยมรอคุณอยู่ในเวลากำหนดของพระเจ้า

ชาโลม
ขอพระเจ้าอวยพระพร
Ktm.shachah

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย

 ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย มัทธิว อย่าต่อสู้คนชั่ว มธ. 5:39 ส่วนเราบอกพวกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าใครตบแ...