เป้าประสงค์ของการกินและดื่มในพระคัมภีร์
By อ. เนติ คู่โชติกุล
ไม่บ่อยครั้งที่ผมจะนำบทความจากที่อื่นมาลงในบล็อก แต่บทความนี้ผมเห็นด้วยจริง ๆ ครับสำหรับเป้าประสงค์ของการกิน และดื่มในพระคัมภีร์ ว่าเพื่ออะไร หากเราเข้าใจความหมายและมองมุมมองของพระคัมภีร์ เราเรียนรู้และเดินตามพระคัมภีร์ ไม่ใช่เดินตามค่านิยมวัฒนธรรมของต่างประเทศมีหลายครั้งด้วยกันในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่คำว่า “กิน . . . ดื่ม . . . ชื่นชมยินดี” ถูกนำมาใช้เมื่อชนชาติอิสราเอลนมัสการพระเจ้า เช่น เมื่อชนชาติอิสราเอลรับพระบัญญัติที่ภูเขาซีนาย พวกเขากิน และดื่มจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า (อพย.24:9-13)
อพย. 24:9 แล้วโมเสสกับอาโรน นาดับกับอาบีฮู และพวกผู้ใหญ่ของอิสราเอล 70 คนก็ขึ้นไป
อพย. 24:10 พวกเขาได้เห็นพระเจ้าแห่งอิสราเอล และพื้นที่รองพระบาทเป็นเหมือนนิลสีคราม สุกใสเหมือนท้องฟ้าทีเดียว
อพย. 24:11 พระองค์ไม่ได้ทรงลงโทษบรรดาผู้นำชนชาติอิสราเอล พวกเขาได้เห็นพระเจ้าและได้กินและดื่ม
อพย. 24:12 พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “เจ้าจงขึ้นมาหาเราบนภูเขา แล้วคอยอยู่ที่นั่น เราจะให้แผ่นศิลาที่มีธรรมบัญญัติและคำบัญชาซึ่งเราจารึกไว้เพื่อสอนพวกเขา”
อพย. 24:13 โมเสสจึงลุกขึ้นพร้อมกับโยชูวาผู้รับใช้ของท่าน โมเสสขึ้นไปบนภูเขาของพระเจ้า
กษัตริย์ซาโลมอนได้ทำการเลี้ยงฉลองหลังจากที่ได้ถวายพระวิหารแด่พระเจ้า ชนชาติอิสราเอลก็กินเลี้ยงกัน และชื่นชมยินดีในพระเจ้า (1 พกษ. 8:65-66)
1พกษ. 8:65 ซาโลมอนจึงทรงฉลองเทศกาลเลี้ยงในเวลานั้น พร้อมกับอิสราเอลทั้งสิ้น เป็นการชุมนุมใหญ่ เฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา ทั้งเจ็ดวันและต่ออีกเจ็ดวัน รวมสิบสี่วัน มีคนมาตั้งแต่ทางเข้าเมืองฮามัทจนถึงลำธารอียิปต์
1พกษ. 8:66 ในวันที่แปด พระองค์ทรงให้ประชาชนกลับ เขาทั้งหลายก็ถวายพระพรแด่พระราชา และกลับไปยังเต็นท์ของตนด้วยจิตใจชื่นบานและยินดี เนื่องด้วยความดีทั้งสิ้น ซึ่งพระยาห์เวห์ทรงสำแดงแก่ดาวิดผู้รับใช้ของพระองค์ และแก่อิสราเอลประชากรของพระองค์
จากข้อพระคัมภีร์ที่ได้กล่าวอ้างมา การกิน การดื่ม การชื่นชมยินดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการพระเจ้า นั่นคือ “การนมัสการพระเจ้าของชาวยิวเป็นการฉลองจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า” (เคนเนธ ด๊อบสัน, 2520) เมื่อท่านปัญญาจารย์กล่าวว่า “สำหรับมนุษย์นั้นไม่มีอะไรดีไปกว่ากิน และดื่ม กับชื่นชมผลจากการตรากตรำของเขา” จึงหมายถึง การท้าทายให้มนุษย์เข้าสู่การนมัสการพระเจ้า เป็นการมอบความทุกข์ยากของชีวิตไว้กับการนมัสการพระองค์ การกิน การดื่ม และความยินดีในผลงานนั้นเป็นสิ่งสุดท้ายในการนมัสการของชาวยิว นั่นคือ เมื่อพวกเขานมัสการพระเจ้าแล้ว จึงได้ทำการฉลอง และชื่นชมยินดีในพระเจ้า การนมัสการด้วยการฉลองพระเจ้าจึงเป็นการสำแดงถึงคุณงามความดีที่พระเจ้ากระทำต่อชีวิตของเรา ยืนยันต่อชุมนุมชนว่าพระเจ้าทรงพระคุณ ทรงเลี้ยงดู และชีวิตยังมีความหวังในพระองค์
นี่อาจเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ว่าทำไมคริสตจักรทำกิจกรรมที่เรียกว่า “อาหารสามัคคีธรรม” หรือการรับประทานอาหารร่วมกันหลังจากการนมัสการพระเจ้าในช่วงเที่ยงวัน เมื่อทุกคนมาร่วมกันนมัสการพระเจ้า (Qoheleth - มาร่วมชุมนุมกัน) การมานมัสการพระเจ้าไม่ได้จบสิ้นลงด้วยการอธิษฐานขอพระพร และการร้องเพลงตอบสนอง เพราะการนมัสการพระเจ้ายังคงดำเนินต่อไปด้วยการที่สมาชิกทุกคนในคริสตจักรนั่งลง และรับประทานอาหารร่วมกัน ทุกหัวข้อที่อยู่บนโต๊ะอาหาร และความสนุกสนานรื่นเริงในการรับประทานอาหารร่วมกัน การหนุนน้ำใจ และรอยยิ้มจากผู้ที่นั่งร่วมโต๊ะด้วยกันยังเป็นการนมัสการพระเจ้า นี่จึงเป็นน้ำพระทัยพระเจ้าที่ให้สมาชิกคริสตจักรทุกคนมาร่วมกันชื่นชมยินดี และฉลองพระเจ้าร่วมกันหลังจากที่ออกจากห้องนมัสการพระเจ้าไปแล้ว
Cr. เนติ คู่โชติกุล, เอกสารประกอบการสอนวิชาพระธรรมวรรณกรรมแห่งปัญญา, 2017
เสริมจากบทความ
มีคำกล่าวในการตีความที่ผิดบริบทว่า "เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้านั้นไม่ใช่การกินและการดื่ม"
รม. 14:17 เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้านั้นไม่ใช่การกินและการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรม สันติสุข และความชื่นชมยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์
รม. 14:13 ดังนั้นอย่าให้เรากล่าวโทษกันและกันอีกเลย แต่จงตัดสินใจดีกว่าว่าจะไม่วางสิ่งซึ่งทำให้พี่น้องสะดุด หรือสิ่งกีดขวางทางของเขา
จริง ๆ แล้วพระวจนะกำลังสอนเราว่า เราไม่ควรให้เรื่องการกินเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่อาจจะเข้าใจผิดในพระวจนะข้อนี้หลายคนตีความว่า ชีวิตผู้เชื่อต้องอุทิศตน อย่าเที่ยว อย่าห่วงแต่การกิน แต่ไม่ใส่ใจงานรับใช้ หรือพันธกิจของคริสตจักร ซึ่งเป็นคนล่ะบริบทของการรับประทานอาหารทั่วไป
ชาโลม
ktm.Emunah
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น