วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระเยซูผู้มารื้อฟื้น ธรรมบัญญัติ

พระเยซูผู้มารื้อฟื้น
ธรรมบัญญัติ


วันนี้ผมอยากแบ่งปันเราในเรื่องของธรรมบัญญัติ
จะเป็นมุมกว้างๆที่เราจะประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา

วันนี้เราจะแยก ธรรมบัญญัติ หรือที่เราเรียกว่า โทราห์ และ
บัญญัติ ฟาริสีที่เราเรียกว่า บัญญัติ ธรรมเนียมนิยม ประเพณี รูปแบบ พิธีกรรมของมนุษย์

หลายครั้งที่เราเองอาจจะตัดสินคนอื่น หรือ คนอื่นอาจจะตัดสินเราว่า ไอ้พวกบ้ายิว
ไอ้พวกไปเอาแอกมาแบก พระเยซูมาแล้ว พระคุณล้วนๆ

เราเลยจะมาดูกันว่า ไอ้ที่เขาว่า เราเป็นแบบนั้นจริงไหม ?


ใน มาระโก บทที่ 7 :1-9 ฟาริสีได้จับผิด บรรดาสาวกของพระเยซูเรื่องการไม่ล้างมือ ฟาริสีกับพวกยิวทุกคนถือตามคำสอนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษว่า ถ้าไม่ได้ล้างมือตามพิธีโดยเคร่งครัดแล้ว จะไม่รับประทานอาหารเลย
บรรพบุรุษ หรือ ผู้เฒ่าผู้แก่
แท้จริงสาวก น่าจะล้างมือแล้ว แต่ไม่ได้ล้างตาม ธรรมเนียมประเพณีที่ เคร่งศาสนา
แท้จริงพิธีล้างมือในที่นี้คือ

Netilat Yadayim
พิธีล้างมือแบบดั้งเดิมที่ตกทอด
มาจากบรรพบุรุษ
มักทำตอนเช้าและ ก่อนรับประทานอาหาร
และก่อนทำพิธีนี้ มือของคุณควรจะทำความ
สะอาดเรียบร้อยแล้วก่อนทำพิธีนี้
จะใช้ถ้วยมีหูจับสองหู เทน้ำเริ่มจากมือขวา
และสลับไปมา เสร็จแล้วสวดบทสวดที่ว่า

 Bracha: Baruch atah Adonai eloheinu melekh ha-olam, asher kiddeshanu bemitzvotav vetzivanu al netilat yadayim

(Blessed art thou, Lord our God, Master of the universe, who has sanctified us with thy commandments, and commanded us about washing the hands.)


ทุกสิ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ก่อนรับประทานขนมปัง

“ทำไมพวกสาวกของท่านไม่ประพฤติตามคำสอนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่กลับรับประทานอาหารด้วยมือที่เป็นมลทิน?”

มก. 7:9 พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “วิเศษจริงนะ ที่พวกท่านได้ละทิ้งพระบัญญัติของพระเจ้า เพื่อจะได้ยึดถือคำสอนที่รับมาจากบรรพบุรุษ
บางฉบับใช้คำว่า เขาได้ปฏิเสธธรรมบัญญัติคำสอนของพระยาห์เวห์ และสร้างประเพณีของตัวเองขึ้นมา
มธ. 5:17 “อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของบรรดาผู้เผยพระวจนะ เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ

อย่างพึ่งเบื่อกับพระวจนะตอนนี้นะครับ หลายคนอาจจะฟังหลายรอบแล้ว
แท้จริง โทราห์ หรือที่เราเรียกว่า ธรรมบัญญัตินั้นคืออะไร
เราต้องแยกให้ออกก่อนระหว่าง บัญญัติธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์
ที่เป็นของ (ฟาริสี) กับธรรมบัญญัติ (Torah) ของพระยาห์เวห์
โทราห์ที่หลายคนบอกหมายถึงคำสอนของพระยาห์เวห์
บางครั้งหมายถึงลูกศรที่ยิงออกไป ให้ตรงเป้าหมาย
พระเยซูคือโทราห์ ที่มีชีวิตและนำเราไปถึงเป้าประสงค์

ฮบ. 9:10 เพราะ​เป็น​เรื่อง​อา​หาร​และ​เครื่อง​ดื่ม​และ​พิธี​ชำระ​ล้าง​ต่างๆ เท่า​นั้น เป็น​เพียง​กฎ​เกณฑ์​ต่างๆ ทาง​กาย​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ภาย​นอก​ที่​ได้​บัญ​ญัติ​ไว้ จน​กว่า​จะ​ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​เปลี่ยน​แปลง​ใหม่

“อย่าคิดว่าเราจะมาทำให้ไม่สบายใจ หรือมาทำลายโทราห์ หรือคำของผู้เผยพระวจนะ
เราไม่ได้มาลด หรือทำลายแต่มาเพื่อเติมเต็ม”

รม. 10:4 เพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นจุดจบของธรรมบัญญัติ เพื่อให้ทุกคนที่มีความเชื่อได้รับความชอบธรรม

คำว่าจุดจบในที่นี้ แท้จริงจะมีความหมายว่า ทรงเป็น เป้าประสงค์
หรือเป้าหมายของธรรมบัญญัติ (โทราห์) นั่นเอง

“เพราะว่าพระองค์เป็นเป้าประสงค์ไปถึงซึ่งธรรมบัญญัติ
เพื่อทุกคนที่เชื่อในธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์ได้รับความชอบธรรม”

: พระองค์มาเพื่อนำเราไปถึงพระประสงค์แท้ของพระเจ้า
พระเจ้าประทานบัญญัติไม่ใช่ให้เป็นภาระของเรา
แต่โดยความรักเพื่อให้เรา บริสุทธิ์ และบริสุทธิ์ในที่นี้คือ

Kadosh คาโดช ไม่ได้หมายถึง ไร้ตำหนิ ขาวจั๊ว หรือโฮลี่
แต่บริสุทธิ์ ในความหมายของคาโดช หมายถึง
การแยกออกมา หรือถูกแยกไว้เพื่อพระเจ้าโดยเฉพาะ

ธรรมบัญญัติจึงมีจุดมุ่งหมายเป็นกระจกให้เราเห็น
หรือแยกเราออกจากสิ่งที่เป็นโลกและซาตานจะดึงเราเข้าไป

แต่เนื่องจากมนุษย์ได้เพิ่มเติมหลายสิ่ง และธรรมเนียมต่างๆ
เข้าไปมากมายจน ธรรมบัญญัติเละเทะ ป่นปี้และพังลง พระองค์มาเพื่อรื้อฟื้น

ในภาษาฮีบรู
บารา: คือการสร้างจากสิ่งที่ไม่มีให้มี (ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง)
ยูอีบรา: คือการสร้างจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
หรือ การ Renew รีนิว (รื้อฟื้น)

พระเยซูไม่ได้มา สร้างบัญญัติใหม่ ยุบบัญญัติเดิม
และเห็นว่าของเดิมมันเป็นภาระ เลยยุบหายไปซะและทำแทนเราสิ้นเรื่อง
… ไม่ใช่แบบนั้นแน่นอน

ใน มัทธิว 5:17 คำว่ามาทำให้สมบูรณ์ตามนั้นทุกประการ
สมบูรณ์ จึงหมายถึง การเติมเต็ม หรือมาสอนตามนั้นทุกประการ
พระเยซูก็สอน บัญญัติ 10 ประการให้เราเห็นด้วย ในพันธสัญญาใหม่ด้วย


เราไม่ได้พยายามแบกธรรมบัญญัติและตะเกียกตะกายให้ตัวเองรอด
แต่เรามีธรรมชาติใหม่ที่พระเยซูใส่ให้กับเรา
โดยการแลกเอาธรรมชาติเก่าคือเนื้อหนัง ไปตรึงที่ กางเขน

กท. 5:24 ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์ได้ตรึงเนื้อหนังไว้ที่กางเขนพร้อมกับราคะและตัณหาแล้ว
ในภาษาเดิม ใช้คำว่า เอาธรรมชาติเก่าของเราออกไป ตายที่กางเขน

เราจึงไม่ได้พยายามเพื่อจะรอด แต่เราได้รับความรอด
เพื่อดำเนินตาม พระเยซูทุกประการ
(พระเยซูก็รักษาธรรมบัญญัติ และเราก็ไม่เห็นใครจะโต้
หรือแย้งพระเยซูเลยว่า ไปเอาธรรมบัญญัติเดิม)

หลายคนบอกว่าเรารอดแล้วโดยพระคุณ บางคนขนาดอ้างว่า
ยุคพระเยซูคือยุคของพระคุณ และยุคพันธสัญญาเดิมคือยุคของพระเดช
ตายสถานเดียว จริงแบบนั้นหรือ ??

: แท้จริง คำว่าพระคุณ = ความโปรดปราน เป็นรากของคำเดียวกัน บางครั้งใช้คำว่า พระเมตตา (กรุณา)
ภาษาฮีบรูใช้คำว่า chen = grace חֵן การช่วยเหลือ , ความเมตตา ,ความกรุณา , พระมหากรุณา

เราจึงมีพระคุณตั้งแต่สร้างโลก พระคัมภีร์เดิมใช้คำว่าโปรดปราน
พระคัมภีร์ใหม่หลายตอนใช้พระคุณ คือรากคำเดียวกัน
ดาวิดทำบาป แต่พระเจ้ายังโปรดปราน (พระคุณ) ต่อดาวิด
หลายครั้งมีการอ้างเรื่องพระคุณ และธรรมบัญญัติจบไป .. ผมจะแบ่งปันในส่วนต่อไป

ยน. 14:21 ใครที่มีบัญญัติของเราและประพฤติตามบัญญัติเหล่านั้น คนนั้นเป็นคนที่รักเรา และคนที่รักเรานั้นพระบิดาของเราจะทรงรักเขา และเราจะรักเขาและจะสำแดงตัวให้ปรากฏแก่เขา”

ถ้าเรารัก เราบอกว่าเรารักพระเจ้า เราเองต้องไม่ลืมที่จะแสดงออกด้วยการประพฤติตามธรรมบัญญัติ

บัญญัติข้อใหญ่ มธ. 22:37 พระเยซูทรงตอบเขาว่า “ ‘จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน’  และด้วยสุดความคิดของท่าน

เราจึงไม่บอกว่ารักพระเจ้าแต่ไม่เอาธรรมบัญญัติเดิมแล้ว รักคือการประพฤติตาม

2ยน. 1:6 และความรักนั้นก็คือการที่เราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เริ่มแรก จงประพฤติตามนั้น

พระวิจนะตอนต่อไปอาจจะดูค้านกัน แต่แท้จริงไม่ค้านเลย

กท. 5:18 แต่ถ้าท่านทั้งหลายได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณ ท่านก็ไม่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ

: พระวจนะตอนนี้หลายคนนำมาบอกว่า พระวิญญาณทรงนำแล้ว
เราก็ไม่ได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ คือไม่ต้องไปเป็นทาสของธรรมบัญญัติอีกต่อไป

(ย้อนไป บัญญัติที่หลายคนรังเกียจ ผมดีใจที่มันคือบัญญัติมนุษย์)
แต่อย่าตีความว่า ธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์ เป็นแอกและภาระ

: แท้จริงพระวจนะตอนนี้ ในฉบับราก (Hebraic) ให้คำที่เข้าใจได้ว่า
“แต่ถ้าเราได้รับการทรงนำในพระวิญญาณ เราก็ไม่อยู่ภายใต้ระบบ
ที่ค้านกับโทราห์” คือไม่อยู่ภายใต้ระบบที่ค้านกับธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์
หรือไม่อยู่ภายใต้กรอบความคิดที่แย้งกับธรรมบัญญัติ

พระเยซูเรีกพระวิญญาณบริสุทธ์ (Ruach Hakodesh) ว่า พระวิญญาณแห่งความจริง

ยน. 16:13 เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำพวกท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล เพราะพระองค์จะไม่ตรัสโดยพลการ แต่พระองค์จะตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน และพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

"เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงมา พระองค์จะแนะนำคุณในทุกความจริงทั้งหมด (ทุกถ้อยคำในโทราห์)
สำหรับพระองค์แล้ว จะไม่ทรงตรัสสิ่งที่มาจากพระองค์เอง แต่จะทรงตรัสเฉพาะสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน
นอกจากนี้แล้ว พระองค์จะยังทรงประกาศให้คุณทราบเหตุการ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต "

ความจริง = Emet ในภาษาฮีบรู
Torah = ธรรมบัญญัติ
ธรรมบัญญัติ = คำสอน หรือถ้อยคำของพระยาห์เวห์

อสค. 36:27 และเราจะใส่วิญญาณของเราภายในเจ้า และกระทำให้เจ้าดำเนินตามกฎเกณฑ์ของเรา และเจ้าจะรักษาคำตัดสินของเราและกระทำตาม

ยรม. 31:33 “แต่นี่จะเป็นพันธสัญญาซึ่งเราจะทำกับเชื้อสายของอิสราเอลภายหลังสมัยนั้น” พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ “เราจะบรรจุธรรมบัญญัติไว้ในเขาทั้งหลาย และเราจะจารึกมันไว้บนดวงใจของเขา และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา

ฮบ. 10:16 “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า นี่คือพันธสัญญาซึ่งเราจะทำกับเขาทั้งหลาย หลังจากสมัยนั้น เราจะบรรจุธรรมบัญญัติของเราไว้ในใจของพวกเขา และเราจะจารึกมันไว้ในจิตใจของพวกเขา”

เราจึงไม่ได้กลับไปเดินในวิญญาณศาสนา ไปเดินในธรรมเนียม
ไปเดินในประเพณีของมนุษย์ ภาระของเรามันคือธรรมชาติบาปของเรา
บางคนทำความดีประพฤติดี เพราะธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อมได้หล่อหลอมเขามาแบบนั้น

บัดนี้เราจึงดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ
ที่นำเราในธรรมบัญญัติของพระองค์

รม. 8:3 เพราะว่าสิ่งซึ่งธรรมบัญญัติทำไม่ได้ เพราะเนื้อหนังทำให้มันอ่อนกำลังไปนั้น พระเจ้าได้ทรงทำแล้ว โดยพระองค์ทรงใช้พระบุตรของพระองค์เองมา ในสภาพเสมือนเนื้อหนังที่บาป และเพื่อไถ่บาป พระบุตรในเนื้อหนังจึงได้ทรง ลงโทษบาป

ลงโทษบาป Condemned = ประณาม ตราหน้า ถูกตัดสินความ

เราไม่สามารถประพฤติตามธรรมบัญญัติเพื่อจะรอดได้ เนื้อหนังความบาปของเรา ธรรมชาติบาปที่ต่อต้านคำสอนของพระเจ้า ทำให้ธรรมบัญญัติ อ่อนกำลังไป ธรรมบัญญัติในม้วนกระดาษ จึงอ่อนกำลังและพังลงไป พระบิดาจึงทำแล้ว โดยการรื้อฟื้นธรรมบัญญัติ ของพระองค์เองที่อ่อนกำลังและพังลง โดยการส่งพระเยซู (ยาชูวาห์) มาในสภาพเนื้อหนังที่บาป (แต่ในพระองค์ไม่มีบาป) เพื่อเอาชนะความบาปและเนื้อหนัง บัดนี้พระองค์ (ยาชูวาห์) จึงเป็นโทราห์ (ธรรมบัญญัติ) ที่มีชีวิต แม้เนื้อหนังเราจะอ่อนแอสักเพียงใด ก็ไม่มีวันทำให้ ธรรมบัญญัติ ยาชูวาห์ อ่อนกำลังไปด้วย ในพระองค์มีความมั่นคง
และพระองค์ได้ตัดสินลงโทษความบาป

ในภาษาเดิม เพราะสิ่งซึ่งโทราห์ทำไม่ได้เพราะโทราห์ไม่มีอำนาจในเรื่อง เนื้อหนังความอ่อนแอของมนุษย์
พระยาห์เวห์จึงได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ในสภาพเนื้อหนังที่บาป และสำหรับความบาป พระองค์ได้ประณามและตัดสินความบาปในเนื้อหนังของมนุษย์ทั้งหมด

รม. 8:4 เพื่อสิ่งที่ธรรมบัญญัติสั่งไว้จะได้สำเร็จในตัวเราที่ไม่ดำเนินตามเนื้อหนัง แต่ตามพระวิญญาณ

ในภาษาเดิม มีคำว่าชอบธรรม = เพื่อให้ความชอบธรรมของโทราห์ (ธรรมบัญญัติ) จะสำเร็จในเรา ที่ไม่ดำเนินตามเนื้อหนัง แต่ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ (ฮบ. 10:16)
แต่การดำเนินชีวิตในพระวิญญาณ ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพและจุดจบของธรรมบัญญัติแบบที่หลายคนเข้าใจ

ธรรมบัญญัติไม่ได้ทำให้เรารอด และเราก็ไม่ได้ประพฤษติตามธรรมบัญญัติเพื่อจะรอด แต่เรารอดโดยทาง พระเยซู เพื่อดำเนินตามด้วยความรัก

1ยน. 3:5 พวกท่านรู้อยู่แล้วว่าพระองค์ทรงปรากฏเพื่อกำจัดบาปของเราให้หมดไป และไม่มีบาปอยู่ในพระองค์เลย
ตรงนี้แหละหมายถึงเอาธรรมชาติความบาปที่เกาะเราออกไป

ภาพของธรรมชาติบาปคือ
แต่บางคนประพฤติดีแค่เรื่องเดียวมันยากแสนเข็ญ
ทำยากมากๆ  ถ้าใครเป็นครูอาจารย์คงจะเข้าใจว่า
เด็กบางคนสอนให้ทำดีประพฤติดีง่ายมาก
บางทีไม่ต้องสอนก็ทำเองได้ แต่บางคนทั้งตี
ทั้งดุ ทั้งว่า ทั้งทำโทษ
แต่ก็ยากเย็นเหลือเกิน นี่คือธรรมชาติบาป

อิสราเอลที่ออกมาจาก อียิปต์มีธรรมชาติบาปตัวนี้แหละ
เขาถึงกลายเป็นตัวร้ายในพระคัมภีร์
ที่เราอ่านและเรา กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ดื้อเสียจริง
เขาอยู่อียิปต์มากี่ร้อยปี ซึมซับอะไรมาบ้าง

ตั้งแต่โยเซฟมา เมื่อหมดยุคนั้น เมื่อบรรพบุรุษของอิสราเอล
ละทิ้งพระเจ้า ถูกกลืนเข้ากับวัฒนธรรม ลูกหลานเขาก็รับผล

ยากนักที่เขาจะต้องอยู่ภายใต้ระบบที่ค้านโทราห์อยู่แล้ว
พระเยซูจึงมาเพราะเหตุนี้ มาซื้อ มาไถ่เราจากอำนาจความบาป
จากสภาพที่ค้านกับธรรมบัญญัติ (Torah)
ไถ่เราแล้วไม่ใช่เราใช้เสรีภาพ และเราคิดว่าเราได้ปลดแอกของธรรมชาติบาป

และรวมเอาคำสอนอันแสนเบาของพระองค์ออกไปด้วย
ไม่ใช่เลย พระองค์ปลดแค่แอกของฟาริสี
และวิญญาณที่ครอบงำเราออกไป

เราไม่สามารถทำตามธรรมบัญญัติได้ทั้งหมด ไม่มีทาง (10 ประการ )
มีแต่พระเยซูผู้เดียวเท่านั้น แต่เมื่อเราพลาด พระวิญญาณจะนำเรา
และเราเข้าสู้โหมดการกลับใจ สำนึกมาที่พระองค์
ส่วนตัวผมเชื่อเช่นนั้น ว่าเราพร้อมจะไปต่อได้

ส่วนคำว่า มิทวา mitzvah ที่มีความหมายถึง บัญญัติ 613 ข้อ
จนดูน่ากลัวนั้น แท้จริงคำนี้มีความหมายที่คล้ายกันกับ
Torah คือหมายถึง ข้อบังคับของพระยาห์เวห์
หรือการกระทำที่มีคุณค่า
ซึ่งก็แตกย่อยมาจากบัญญัติ 10 ประการนั่นเอง

ส่วนเรื่องสะบาโต หลายคนถามว่าไม่ตรงวันจะรอดไหม ?
ตอบส่วนตัวก่อนครับว่า ผมเชื่อว่ารอด แต่ท่าทีเราเป็นเช่นไร
ลองมองย้อนไป ถ้าเรารู้ความจริงและปฏิเสธ กับ เรารู้ความจริง
แต่เรามีความจำกัดและถูกผูกมัดด้วยงานประจำ
แต่เรามีหัวใจอยากสะบาโตเหลือเกิน และเราอาจจะหาวันอื่น
หรือในช่วงพักหรือกลับบ้าน เราเข้าให้เวลา และใช้เวลากับพระเจ้า
… ผมว่าผลต่างกับคนที่ไม่สนใจจะสะบาโตเลยครับ

ถ้าเราเชื่อว่า ธรรมบัญญัติ(โทราห์) กับ การเจิม ไปด้วยกัน
เราต้องมองเห็นภาพของ
โมเสส และ เอลียาห์ ที่คู่กันเสมอ

โมเสสคือภาพเล็งถึง โทราห์
เอลียาห์ คือ การเผยพระวจนะ .. และสองสิ่งจะไม่ค้านกันเอง
โทราห์คือคู่มือการดำเนินชีวิตครับ

: ผมเชื่อว่าเวลาเราซื้อมือถือ ไอแพด ไอโฟน ซื้อรถยนต์
น้อยคนนักจะอ่านคู่มือ และน้อยคนลงไปอีกจะท่องคู่มือทั้งเล่ม
ถ้าท่านซื้อ มือถือสักเครื่อง ท่านลองท่องคู่มือทั้งหมดเลยนะครับ ว่าจะจำได้ไหม ??

คงไม่มีใครมานั่งท่องคู่มือโทรศัพท์ จริงไหม แต่คนที่จำได้ทั้งหมดคือใคร ?
เจ้าของสินค้า , วิศวกรที่คิดค้น

เช่นเดียวกัน เราอ่านคู่มือ เราท่องได้จำได้บางส่วน
กี่คนที่จะท่องได้ทั้งเล่ม และคนที่ท่องได้ทั้งเล่ม
จะมีวิญญาณแบบไหน บัญญัติ 10 ประการอาจจะไม่เท่าไร
แต่ 613 ข้อใครท่องได้หมดก็เยี่ยม

แต่เมื่อเราอ่านและพิจารณา พระวิญญาณทั้งเจ็ด
จะนำเรา สอนเรา ดึงเอาสิ่งและส่วนที่เรารักษาคือ
อ่าน ออกมา โทราห์ที่จารึกไว้ จะถูกนำออกมาและพระวิญญาณจะนำเราแน่นอน
พระวิญญาณแห่งความจริงจะนำเรา (อิสยาห์ 11:2)

มธ. 11:29 จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก
มธ. 11:30 ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา”
ในบางฉบับใช้คำว่า แอกของพระองค์ก็ง่าย (Easy)

แอกพระเยซู = ธรรมบัญญัติ = คำสอน = มีส่วนร่วมกับพระองค์
พระวจนะบอกว่า ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา

1ยน. 5:3 เพราะว่าความรักต่อพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือเมื่อเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์นั้นไม่เป็นภาระหนักเกินไป

หรือสำหรับของพระเจ้าหมายความว่า เชื่อฟังคำสอนของพระองค์
นอกจากนี้คำสอนของพระองค์ไม่เป็นภาระ

ในภาษากรีก ของอ้างถึงสักหน่อย ความรักมี 4 ระดับ

สตอร์เก หมายถึง ความรักทั่วๆไป
อีรอส หมายถึง ความรักหนุ่มสาว
ฟีเล หมายถึง ความรักแบบพี่น้อง
อากาเป้ หมายถึง ความรักแบบอุทิศตัว

นี่คือ ความรับแบบ สุดจิต สุดใจ สุดกำลัง สุดความคิด
นี่คือความรัก ที่ตรงตามธรรมบัญญัติ 2 จ้อใหญ่

จงเรียนรู้จากพระองค์ คำว่า สาวก ในภาษาฮีบรู
คือผู้ที่มีชีวิตร่วมกับพระเยซู หรือพระอาจารย์

มาดูเรื่องพระคุณกันสักนิด ขอย้อนหน่อยครับ จากที่ค้างไว้
อฟ. 2:8 ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ และมิใช่โดยตัวท่านทั้งหลายกระทำเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้
ข้อนี้เองหลายคนบอกว่า ไม่ต้องกระทำแล้ว เหมือนข้อที่บอกว่าเป็นจุดจบ

ยก. 2:26 เพราะกายที่ปราศจากจิตวิญญาณนั้นไร้ชีพแล้วฉันใด ความเชื่อที่ปราศจากการประพฤติตามก็ไร้ผลฉันนั้น
ฉบับแปลฮีบรู บอกว่า ร่างกายที่ตายแล้วก็ปราศจากวิญญาณ ความเชื่อ (อีมูน่า) ปราศจากการประพฤติตามธรรมบัญญัติ (mitzvoth) ก็ตายแล้ว หรือความเชื่อที่ไม่ได้กระทำก็ตาย

แบบนี้ ยากอบ กับเปาโล สอนค้านกันหรือ ?
ความเชื่อในภาษาฮีบรู คือความเชื่อที่เจาะจงลงไป
คือความเชื่อที่เป็นคำเฉพาะ หมายถึง ความเชื่อในถ้อยคำ
ในคำสอน (ธรรมบัญญัติ) ของพระยาห์เวห์ หรือ เชื่อในแก่นสารของโทราห์
แก่นสารหมายถึง ใจความสำคัญ หรือ หัวใจของธรรมบัญญัติ

ดังนั้นใน เอเฟซัส 2:8 จึงหมายถึง เรารอดโดยพระคุณ
เพราะความเชื่อใน >> ธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์
ในแก่นสารของโทราห์ มิใช่โดยเราเราพยายามเอง หรือ
(ทำเองตามธรรมเนียมเอง หรือคิดเสริมบัญญัติหวังดีช่วยพระเจ้า)

ดังนั้น ยก. 2:26 เพราะกายที่ปราศจากจิตวิญญาณนั้นไร้ชีพแล้วฉันใด ความเชื่อ (อีมูน่า) ที่ปราศจากการประพฤติตาม (คำสอน mitzvoth) ก็ไร้ผลฉันนั้น

ในภาษาเดิมใช้คำว่า mitzvoth หมายถึงคำสอน
และข้อบังคับของพระยาห์เวห์ด้วย
หลายคนให้ความหมายถึง บัญญัติ 613 และเน้น
เมื่อฟังแล้ว ความคิดโดนหลอกให้ท้อใจ

กจ. 15:10 เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้าโดยวางแอกบนคอของพวกสาวก ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษหรือเราเองแบกไม่ไหว

แอกในที่นี้คือ คำสอน ธรรมเนียม ประเพณี ของฟาริสีหรือของบรรพบุรุษ
:พี่น้องครับ พระประสงค์ของพระเจ้า ถ้าเราคิดว่าธรรมบัญญัติแท้คือภาระ
ถ้าแบบนั้นเรากล่าวหาว่าพระเจ้าประทานภาระให้เราหรือ เปล่าเลย
พระเจ้าไม่ทำอะไรค้านกันแน่นอน แอกคำสอนมนุษย์ทำให้ทุกอย่างพังลง
และบรรพบุรุษไม่สามารถจะรับหรือแบกไหว พระเยซูมาเพื่อรื้อฟื้นใหม่

: พระคัมภีร์ตอนนี้จึงไม่ได้พูดถึงโทราห์ หรือธรรมบัญญัติ
สิ่งที่เปาโลพูดว่าเป็นภาระหนัก อึ้งทำไมต้องไปวางบนคอของสาวก
นั่นคือ โทราห์หรือ ไม่ใช่เลย
ถ้าเปาโลพูดแบบนั้นเปาโลก็ไม่ได้พูดจริง

เพราะใน สดุดี และ 1 ยอห์น 5:3 บอกว่า บัญญัติของพระเจ้าไม่ใช่ภาระหนัก
สิ่งที่มนุษย์เติมแต่ง จะเอามาเป็น ภาระทำไม นี่คือที่มา แอกของฟาริสี
กิจการ 15:10 จึงไม่ได้พูดถึงโทราห์ แต่เป็นแอกของฟาริสี  (หรือ วิญญาณของฟาริสี)

กิจการ ข้อที่ 5 บอกว่าฟาริสีก็มีความเชื่อ แต่ความเชื่อเขาไม่ใช่ความเชื่อในระดับลึก
ผมขอแบ่งปันความเชื่อในมุมของภาษานะครับ
ในภาษาไทยถ้าผมบอกว่าเชื่อ ก็อาจจะไม่รู้ถึงระดับความลึกของคำซะทีเดียวในตอนแรก

แต่ในมุมของภาษาอังกฤษ มี 3 คำดังนี้
- Believe (อ่านว่า บี ลีฟ) แปลว่า เชื่อ เป็นความเชื่อทั่วๆไป ส่วน belief เป็นคำนาม แปลว่า ความเชื่อ
- Trust (อ่านว่า ทรัสทฺ) bitachon แปลว่า เชื่อถือ (ไว้วางใจ) ลึกขึ้น คือเชื่อแบบวางใจ
- Faith (อ่านว่า เฟธทฺ) emunah แปลว่า ความเชื่อ (แบบศรัทธา) ลึกกว่า 2 คำแรก นี่คือเชื่อแบบศรัทธา
เป็นความเชื่อ แบบอีมูน่า คือเชื่อแบบหมดหัวใจ เชื่อแบบไม่มีข้อสงสัย ในแก่นสารของโทราห์

ความเชื่อแบบ Faith  อีมูน่า มธ. 8:10 เมื่อพระเยซูทรงได้ยินดังนั้นก็ประหลาดพระทัยนัก ตรัสกับบรรดาคนที่ตามพระองค์ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เราไม่เคยพบศรัทธาที่ไหนมากเท่านี้แม้ในอิสราเอล

บัดนี้เราจึงมีธรรมชาติใหม่ในการเชื่อฟังโทราห์ (ธรรมบัญญัติ)

ในภาษาอารเมค (Aramaic) ใช้คำว่า haymanootha haimanuta ܗܝܡܢܘܬܐ
หมายถึง ความเชื่อถือ ความมั่นใจ, ความมั่นคง ความแน่นอน, ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง ความสมบูรณ์ ของการอยู่ในพระเจ้า Confidence/firmness/integrity (ข้ามไปนะครับ)

1ยน. 5:3 เพราะว่าความรักต่อพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือเมื่อเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์นั้นไม่เป็นภาระหนักเกินไป

2คร. 5:17 เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งเก่าๆก็ล่วงไป ดูเถิด สิ่งสารพัดกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น
หรือถ้าผู้ใด รวมกัน หรือเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ … ดูเถิด คุณจะได้มาวึ่งสิ่งที่สดและใหม่

ผู้นั้นก็เป็นคนถูกสร้างใหม่ หมายถึงเมื่อเราเชื่อในพระเยซูผู้เป็นทางนั้น ทางเดียวที่จะไปถึงพระบิดา เราก็เป็นคนที่ถูกรื้อฟื้นและซ่อมแซม การทรงสร้างแรกเริ่ม ที่พระเจ้าประสงค์ในการสร้างมนุษย์ สิ่งเก่าๆล่วงเลยไป และกลายเป็นการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
คุณคือคนนั้น

ปัสกาที่จะมาถึง เราจะไม่เข้าปัสกาแบบ ประเพณี
จริงแล้วประเพณีที่มาจากพระวจนะคือสิ่งที่ดี
แต่เราจะไม่เข้าปัสกาด้วยค่านิยม หรือแค่ตามเขา

หรือการเป็นวิญญาณเคร่งศาสนา
หรือไม่รู้เรื่องอะไรเลย
การไม่รู้เรื่องอะไรแล้วก็เข้าไปงั๊นๆ อืม มันดีนะ
ยังไม่ใช่ท่าทีที่ถูกต้อง

เทศกาลในภาษาฮีบรูคือ โมเอ็ด mo’ed (Moedim)
หมายถึงวาระที่กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ของชาวยิว

แต่เป็นเทศกาลที่พระยาห์เวห์กำหนด การไม่เข้าเทศกาล
อาจะไม่เกี่ยวกับความรอด ไม่เกี่ยวกับความตาย
แต่เราก็แค่!! พลาดโอกาสอันใหญ่หลวงมากมายที่จะพบกับพระเจ้า (เป็นพิเศษ)
เทศกาลคือการประชุม บางครั้งมีคำที่ซ่อนอยู่คือ การซักซ้อม
นั่นหมายถึงมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อเทศกาลในพันธสัญญาเดิมคือสิ่งที่เล็งไปยังพระเยซูที่จะมาในครั้งแรก

การซักซ้อมก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองด้วย
ประเด็นคือ เราจะเข้าร่วมการซักซ้อมในการเสด็จกลับมาของพระเยซู
เราอยากรับเอาพระพรพิเศษ และพบกับพระบิดาในเวลาพิเศษๆ หรือ ….??

คส. 2:14 พระองค์ทรงฉีกกรมธรรม์ซึ่งได้ผูกมัดเราด้วยบัญญัติต่างๆ ซึ่งขัดขวางเรา และได้ทรงหยิบเอาไปเสียให้พ้นโดยทรงตรึงไว้ที่กางเขน

ในภาษาเดิมที่ไม่ได้แปลจากฉบับกรีก คือพระองค์เอาเนื้อหนังไปตรึง หมายถึงบัญญัติที่ประมาณพวกฟาริสีตั้งขึ้นเสริมนั่นนี่จนกลายเป็นภาระ หลายคนทำได้ แต่มันกลายเป็นเนื้อหนังที่ควบคุม หลายคนก็ล้ม สรุปคือไม่มีใครไปถึงปลายทางได้ พระเยซูเอาไปตรึงที่กางเขนแล้ว

พระองค์ทรงยกเลิกกฎหมายกระดาษต่างๆที่เขียนด้วยลายมือ มนุษย์ หมายถึงมาจากมนุษย์ที่ตั้งขึ้นมาและมันเป็นภาระ และเป็นอุปสรรค์ และมันได้มาต่อต้านพระองค์ และผูกมัดเราไว้ แต่พระองค์ได้เอามันออกไปจากเส้นทางของเราแล้ว และเอามันไปตรึงเสียที่กางเขน

ความหมายพระวจนะในตอนนี้จึงไม่ใช่ ธรรมบัญญัติ ที่มาจากพระโอฐของพระองค์เอง
ในฉบับ 2011 THSV คส. 2:14 พระองค์ทรงฉีกเอกสารหนี้ที่มีคำสั่งต่างๆ ซึ่งต่อสู้และขัดขวางเรา และทรงขจัดไปเสียโดยตรึงไว้ที่กางเขน

เรา จะเห็นชัดเจนมายิ่งขึ้นว่า ในฉบับนี้ได้มีการแปลใหม่ โดยไม่ได้ใช้คำว่า บัญญัติ ให้เราได้สับสน แต่ใช้คำว่า คำสั่งต่างๆ ที่ขัดขวางระหว่างเรากับพระเจ้า พระองค์ได้ฉีกมันทิ้งไป โดยตรึงที่กางเขน

สุดท้ายจริงๆ รม. 12:2 อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม  :ภาษาเดิมจะใช้คำว่า อย่าถูกบีบอัดเข้ากับแม่พิมพ์ของโลกนี้ แต่รับการฟื้นฟู, สร้างใหม่, ทำให้กลับสู่สภาพเดิม, การยืนยันคำมั่นสัญญา renewal (รีนิว'เอิล)
ส่วนโลกนี้เป็นยังไง
อีกสำนวนใช้คำว่า เราต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกขืนใจในมาตรฐานของโลกนี้
อียิปต์ เล็งถึง โลกเราในปัจจุบัน
ฟาโรห์ เล็งถึง ซาตานที่ควบคุม

ดนล. 7:25 ท่านจะพูดคำกล่าวร้ายองค์ผู้สูงสุด และจะให้วิสุทธิชนขององค์ผู้สูงสุดนั้นอิดหนาระอาใจ และจะคิดเปลี่ยนแปลงบรรดาวาระและพระราชบัญญัติ และเขาทั้งหลายจะถูกมอบไว้ในมือของท่าน ตลอดหนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ

ซาตานมาเพื่อบิดเบือน ต้องการบิดความจริงของพระยาห์เวห์ คือธรรมบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นคำสอน ธรรมบัญญัติ กำหนดการนัดหมาย ซึ่งคือเทศกาล และ สะบาโต

ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกท่าน ที่จะแยกแยะให้ออก สิ่งที่ควรจบสิ้นไป ไม่ใช่ธรรมบัญญัติจากปากของพระยาห์เวห์ หรือสิ่งที่พระองค์ตั้งไว้ คำสอนที่พระองค์มอบให้เรา แต่ ธรรมเนียมที่มนุษย์ (ฟาริสี) ที่เอามาปนกับธรรมบัญญัติ และกลายเป็นแอกและภาระที่แสนหนักต่างหากที่ได้จบสิ้นไปแล้ว โดยพระเยซู

พระองค์จึงมาเพื่อรื้อฟื้นธรรมบัญญัติและจะทรงนำเราและไปด้วยกับเรา

ชาโลม
ขอพระเจ้าอวยพระพร
Ktm.shachah

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย

 ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย มัทธิว อย่าต่อสู้คนชั่ว มธ. 5:39 ส่วนเราบอกพวกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าใครตบแ...