Hanukkah(ฮานุกกะห์)
เทศกาลแสงสว่างแห่งความหวังใจ
Hanukkah หรือ Chanukkah แม้จะไม่ใช่เทศกาลในพันธสัญญาเดิม ไม่ใช่ 3 หรือ 7 เทศกาลหลัก แต่เราระลึกถึงเทศกาลเหล่านี้ไม่ใช่เพราะ ศาสนา การทำตาม หรือเลียนแบบ แต่ความหมายและความสำคัญในช่วงเวลานี้ยังมีสิ่งที่เป็นการจดจ่อหลายสิ่ง ขอแบ่งปันดังนี้ครับHanukkah (ฮานุกกะห์) หรือ Chanukah(คานุกกะห์) คือ เทศกาลแห่งแสงไฟของชาวยิว (festival of lights หรือในภาษาฮีบรูเรียกว่า Chag Ha'Urim ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง Hanukkah เป็นวันเทศกาลแห่งแสงไฟของชาวยิวซึ่งมีขึ้นในช่วงกลางฤดูหนาวของทุกปี เทศกาล Hanukkah นี้มีช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองยาวนานถึง 8 วันติดต่อกันสำหรับชาวยิวที่อาศัยอยู่นอกประเทศอิสราเอล ส่วนที่ประเทศอิสราเอลเองนั้น Hanukkah หรือ festival of lights จะฉลองกันนาน 1 อาทิตย์พอดี
เริ่มต้นในวันที่ 24 ของเดือนคิสเลฟ (Kislev) และไปสิ้นสุดในวันที่ 1 ของเดือนเทเบท (Tevet) ใน Hebrew calendar ซึ่งใช้วิธีนับทางจันทรคตินั่นเอง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า Hanukkah คนไทยคงไม่ค่อยคุ้นเคย คงคุ้นเคยกับวันคริสต์มาสเสียมากกว่า จริงๆแล้วเทศกาล Hanukkah นั้นจะใกล้กับวันคริสต์มาสของทุกปีหรือในบางปีตรงหรือคาบเกี่ยวกัน ด้วยเหตุนี้หลายๆคนจึงมักจะเรียกเทศกาลวัน Hanukkah ว่าเป็นวัน Jewish Christmas เพราะมีการรับเอาประเพณีอย่างเช่นการประดิดประดอยของขวัญและการประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนมาใช้ด้วย
ในอีกมุมหนึ่งในประวัติศาสตร์ เทศกาลนี้เป็นเรื่องที่่น่าขมขื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะมีรากฐานมาจากการลุกขึ้นต่อสู้จักรวรรดิกรีกของชาวยิวกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพื่อให้ชนชาติของตนดำรงอยู่ต่อไป ได้กลับกลายมาเป็นเทศกาลที่ซึมซับวัฒนธรรม ประเพณีใหม่ๆเข้ามาแต่ก็ไม่ถึงกับถูกดูดกลืน
ดังนั้นขอนำความหมายเทศกาล Hanukkah ซึ่งเป็นตัวแทนของเทศกาลส่งความสุขสิ้นปีและเป็นเทศกาลแห่งแสงไฟมาเรียบเรียงให้อ่านกันพอสังเขปนะครับ
คำว่า "Hanukkah" ในภาษาฮีบรูนั้นมี 3 ความหมายด้วยกันคือหมายถึง การอุทิศตน การศึกษา และการเริ่มต้น
Hanukkah ถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของตระกูลมัคคาบีส (The Maccabees)ที่มีเหนือกองทัพของกษัตริย์แอนไทอะคัสที่ 4(Antiochus IV) แห่งซีเรียเมื่อประมาณ 165 ปี ก่อนคริสตศักราช
ตำนานเทศกาลแห่งแสงไฟ Hanukkah ถูกเล่าสืบต่อกันมาว่า มีปริมาณน้ำมันมะกอกเหลืออยู่ในขวดเล็กๆเพียงน้อยนิดเพียงพอที่จะถูกนำไปใช้ในการจุดเทียนบนเชิงเทียน Menorah(มะโนร่าห์)ในพระวิหารหมดในเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้น หากแต่มันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักที่น้ำมันในขวดนั้นสามารถเป็นเชื้อเพลิงให้แสงเทียนได้ส่องสว่างยาวนานถึง 8 วัน และนี่จึงเป็นที่มาของการเฉลิมฉลองเทศกาลวัน Hanukkah ที่มีติดต่อกันยาวนานเป็นระยะเวลา8 วันเพื่อแสดงถึงความศรัทธาต่อมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวและรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวยิวได้กอบกู้และทำการบูรณะปฏิสังขรณ์มหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเยรูซาเล็มแห่งนี้ที่ถูกพวกซีเรียนทำลายลงไปอย่างย่อยยับ
เทศกาลวัน Hanukkah เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ชาวยิวกลุ่มหนึ่งได้ทำการก่อกบฏต่อต้านกษัตริย์แอนไทอะคัสเมื่อประมาณ 165 ปี ก่อนคริสตกาล แม้ว่าวัน Hanukkah จะเป็นเทศกาลวันหยุดเฉลิมฉลองที่เน้นถึงเหตการณ์ที่ชาวยิวมีชัยชนะเหนือกองทัพของกษัตริย์แอนไทอะคัสเป็นหลัก
แต่ในความเป็นจริงแล้วตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ Hanukkah นั้นเริ่มต้นมายาวนานก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเสียอีก
เมื่อประมาณ 334 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้าตีและครอบครองอาณาจักรยูดาห์และได้นำประเพณีและวัฒนธรรมกรีกเข้ามาสู่อาณาจักรแห่งนี้ พระองค์ไม่ได้บังคับให้ใครเข้าร่วมหรือรับเอาวัฒนธรรมกรีกมาปฏิบัติแต่อย่างใด แต่พระองค์จะเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมากกับชาวยิวกลุ่มใดก็ตามที่ยอมรับประเพณี วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตแบบกรีก
เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จสวรรคต อาณาจักรตะวันออกกลางของพระองค์ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคืออาณาจักรตะวันออกที่รวมไปถึงซีเรียยุครุ่งเรือง อิหร่าน อิรัค และเลบานอน พื้นที่ทั้งหมดนี้ถูกรวมเข้าด้วยกันเรียกว่า อาณาจักรซีลูสิต(Seleucid kingdom) ส่วนที่สองคืออาณาจักรตะวันตกที่รวมถึงอียิปต์ด้วย ส่วนนี้ถูกเรียกว่าอาณาจักรโทละเมอีค (Ptolemaic kingdom) อาณาจักรทั้งสองแห่งนี้ได้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบทางด้านการเมืองและอาณาจักรยูดาห์ถูกจับให้กลายเป็นเบี้ยระหว่างการต่อสู้ห้ำหั่นกันของสองอาณาจักรนี้
ปาฏิหาริย์แห่งแสงสว่างอันยาวนานนี้ได้กลายมาเป็นตำนานทีถูกจดจำและถ่ายทอดออกมาในรูปของสัญญลักษณ์เชิงเทียนแห่งมโนร่าห์ (Lighting of the Menorah)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อน Talmudic period และก่อนที่จะมีธรรมศาลา (synagogue)นอกจากนี้พวกกรีกยังได้ออกกฎเหล็กให้พระคัมภีร์โทราห์ทุกเล่มที่เขียนด้วยภาษาฮีบรูเปลี่ยนมาเขียนเป็นภาษากรีกแทน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมชื่อในทุกบทบัญญัติในพระคัมภีร์ทานัค('Tanakh') ถึงได้มีชื่อเป็นภาษากรีกเป็นต้นว่า Genesis, Exodus..etc.เป็นต้นและคำว่า "messiah" นั้นก็มาจากคำภาษากรีกนั่นเอง
ปาฏิหาริย์แห่งแสงสว่างที่จุดอย่างต่อเนื่องที่เชิงเทียน Menorah นี้จะยังคงดำเนินต่อไปเป็นสัญญลักษณ์แห่งชัยชนะของผู้ศรัทธาที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติจักวรรดินิยมกรีกดังนั้น เทศกาล Hanukkah จึงเป็นเทศกาลที่เป็นดังแสงสว่างที่เข้ามาในความืดของความสิ้นหวัง พระเยซูคริสต์จึงเป็นความหวังใจ ของทุกคนที่มีความหวังใจไม่ย่อท้อในความยากลำบาก
ยอห์น 1:4-5
4 พระองค์ทรงเป็นแหล่งชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์
5 ความสว่างส่องเข้ามาในความมืด และความมืดหาได้ชนะความสว่างไม่
นอกจากนี้ Hanukkah เทศกาลฉลองพระวิหาร เป็นช่วงเวลาแห่งการ “อุทิศตน(dedication)” เพื่อแสวงหาพระเจ้า เพื่อฟังเสียงและเดินตามพระองค์ในขวบปีข้างหน้า
ยอห์น 10:22-27
22 ขณะนั้นเป็นเทศกาล (ฉลองพระวิหาร) ที่กรุงเยรูซาเล็ม
23 เป็นฤดูหนาว พระเยซูทรงดำเนินอยู่ในบริเวณพระวิหารที่เฉลียงของซาโลมอน
24 พวกยิวก็พากันมาห้อมล้อมพระองค์และทูลว่า "จะให้ใจเราแขวนอยู่นานสักเท่าใด ถ้าท่านเป็นพระคริสต์ก็จงบอกเราให้ชัดแจ้งเถิด"...
27 แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา และเรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นตามเรา
การรื้อฟื้นพระวิหาร จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น เพียงตัวอาคาร
แต่ยังหมายถึง ร่างกายจิตใจภายในของเราด้วย
1คร. 6:19 ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน ผู้ซึ่งพวกท่านได้รับจากพระเจ้า และท่านทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง?
1คร. 6:20 เพราะว่าพระเจ้าทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง ฉะนั้น จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของพวกท่านเถิด
ทำไมต้องชำระพระวิหาร ?
เพราะวิหารคือที่ประทับของพระเจ้า เป็นที่ประทับของพระวิญญาณบริสุทธ์
มาระโก 11:15-17 พระเยซูก็ชำระพระวิหาร
พระองค์มีหัวใจของการรื้อฟื้นพระวิหาร
จริงๆเรื่องโต๊ะแลกเงินอาจจะไม่ผิดในความคิดบางคน แต่ในเฉลยธรรมบัญญัติ การตั้งโต๊ะแลกเงินในพระวิหารถือว่าผิดโทราห์
เพราะต้องนำเงินมาจากภายนอก ถ้าวิหารสกปรก พระเจ้าผู้บริสุทธิ์จะสถิตอยู่ด้วยได้อย่างไรใครในที่นี้อยากเข้าไปไปในห้องน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ลอยฟ่อง กระจัดกระจาย บ้าง
แน่นอน ไม่มีใครเลย พระเจ้าเองก็เช่นกัน พระองค์ผู้บริสุทธิ์ คือองค์ คาโดช ที่หมายถึง การแยกออกจากความบาปอย่างสิ้นเชิง หรือความสกปรกอย่างสิ้นเชิงและเมื่อพระวิหารถูกรื้อฟื้น นั่นคือการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้ากลับคืนมาอีกด้วย
ลิงค์จุดเทียน ฮานุกก้าห์
http://youtu.be/ghumeajKOdw?list=UUvpIVPPOEPgvwk_RAk69wow
ขอพระยาห์เวห์อวยพระพร
ชาโลม
ktm.shachah
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น